Untitled Document

ข้อคิดธรรมจากโครงการทำดีเพื่อพ่อและแม่ :

ข้อคิดธรรมจากโครงการทำดีเพื่อพ่อและแม่ 2553
ข้อคิดธรรมจากโครงการทำดีเพื่อพ่อและแม่ 2554
ข้อคิดธรรมจากโครงการทำดีเพื่อพ่อและแม่ 2555

"ทำบุญตักบาตรทุกวันพฤหัสบดี"
เป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมการนำคุณธรรมจริยธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการทำบุญตักบาตรในทุกวันพฤหัสบดี ในเวลา 06.30 น. ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ในปี 2555 นี้ เริ่มโครงการในวันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2555

ข้อคิดธรรม วันพฤหัสบดีที่5 กรกฎาคม 2555
โดยพระครูสอน วัดแจ้ง อ.เมือง จ.สงขลา
ท่านอาจารย์สอน เป็นผู้อบรมให้ข้อคิดธรรม โดยท่านตั้งหัวข้อไว้ว่า
อิทัง เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ การให้ทานเป็นจิตบริสุทธิ์
ท่านอาจารย์จำเพาะการให้ทาน 2 ประเภท คือ
1. อามิสทาน การให้วัตถุ ปัจจัย สิ่งของต่าง ๆกัน
2. ธรรมทาน การอบรมสั่งสอนธรรมให้ผู้อื่น
ทานประเภทที่ 1 คืออามิสทานนั้น เป็นการให้วัตถุ สิ่งของ ปัจจัย 4 เป็นการเสียสละข้าวของเป็นทานเพื่อให้ความสุขกับคนอื่น การให้ทานนี้ผู้ให้ให้ด้วยจิตเมตตา ก็เกิดปิติสุข ผู้รับก็รับด้วยความอิ่มใจนับเป็นการประสานใจสู่ใจแก่กันและกันการให้ทานด้วยจิตบริสุทธิ์เช่นนี้ เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี เป็นการเสียสละและเอื้ออาทรต่อกัน
การให้ทานประเภทที่ 2 คือธรรมทาน ทานชนิดนี้นับว่าเป็นเลิศที่สุด นับตั้งแต่พ่อแม่ชี้แนะแนวทางที่ควรหรือไม่ควรให้แก่ลูก เพื่อมุ่งหวังให้ลูกเป็นคนดีของสังคม พ่อแม่จะเอาใจใส่ตรวจสอบ สร้างความเป็นกลางในครอบครัว ไม่ลำเอียง ยกอคติออกจากใจให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกๆ พ่อแม่จะเป็นผู้ชี้บอกทางในการทำความดีให้เรา บุคคลที่ทำหน้าที่แทนพ่อแม่ก็คือครูอาจารย์เราจึงต้องให้ความเคารพ ยกย่อง เชิดชูท่านด้วยศิษย์ที่ดี ครูก็จะชื่นใจไปด้วย การกระทำของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องของกรรมของใคร กรรมของมัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องฝึกฝนตนเองให้รู้จัก มองให้ลึก นึกให้ไกล ใจต้องกว้าง เป็นการตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลา
การให้ทาน เป็นการสมานไมตรี ซึ่งผู้ให้และผู้รับจะเป็นสุข แต่คนที่ให้จะเป็นสุขมากกว่าคนที่รับ โลกจึงจะเกิดความสันติสุขได้
สังคมนี้ต้องการดนดี

ข้อคิดธรรม วันพฤหัสบดีที่12 กรกฎาคม 2555
โดยพระครูสอน วัดแจ้ง อ.เมือง จ.สงขลา
วันนี้ท่านอาจารย์ได้ให้ข้อคิดธรรมเรื่อง
"มีเพื่อให้ ได้เพื่อแจก แบกเพื่อสบาย ตายเพื่ออยู่"

มีเพื่อให้ ก็คือ การที่เราได้เห็นคนเสียสละทรัพย์ วัตถุและอื่นๆ เพื่อบุคคลอื่นนับเป็นการเสียสละที่สำคัญมาก และเห็นกันอยู่เป็นนิจ ที่ีสำคัญใกล้ตัวเราที่สุด ก็คือพ่อ แม่ ที่ยอมอดออม เพื่อให้ลูกได้มีการศึกษาอย่างดี อยู่ดี กินได้ นอนหลับ คนเป็นพ่อแม่นั้นไม่มีอะไรที่จะให้ลูกไม่ได้ แม้กระทั่งชีวิต เป็นธนาคารที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง การที่บางคนน้อยใจว่าพ่อแม่ไม่ได้ให้ เข้าใจเสียใหม่ว่าสิ่งที่เราต้องการจากพ่อแม่ เกินกำลังท่านหรือเปล่า ให้รู้จักระงับความอยากของตนเองไว้ด้วยการเป็นคนให้ ต้องเป็นผู้เสียสละความเห็นแก่ตัวของเขาเหล่านั้น จะเป็นประเภทที่ยิ่งให้ก็ยิ่งได้

ได้เพื่อแจก โดยเฉพาะพ่อแม่ของเราแจกทุกอย่างกับเราสม่ำเสมอ รองลงมา คือ ครูอาจารย์ ท่านให้ความรู้ด้วยจิตบริสุทธิ์ ไม่ปิดบังอำพราง บางครั้งเราทำอะไรนอกกรอบท่านก็ให้ความเมตตาช่วยควบคุมดูแลให้อยู่ในกรอบ

แบกเพื่อสบาย คนเป็นหัวหน้าในทุกสถานการณ์จะเป็นผู้แบกภาระงานต่างๆ ไว้
เพื่อต้องการความสำเร็จของงาน ด้วยเกรงว่างานจะไม่เรียบร้อย เป็นการแบกความรัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มุ่งนำความสามัคคี ความสงบสุข เพื่อให้งานนั้นๆ ตอบสนองความสุข ความสบายให้กับคนอื่น
เปรียบเสมือนคนปิดทองหลังพระ ต้องแบกภาระไว้เอง

ตายเพื่ออยู่ คือผู้เสียสละชีวิตของตน ทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายยอมทุกข์ยากลำบาก เสี่ยงชีวิตให้เราทุกคนอยู่อย่างสบาย ตัวอย่าง เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั่นเอง ท่านสละกิเลสทุกอย่าง มุ่งมั่นเพื่อประชาราษฎร์ของพระองค์ ไท่คิดอยากได้ มีแต่ให้มาตลอด ใจท่านไม่เหนื่อยเลย บางครั้งพระองค์ท่านตรากตรำพระวรกาย หลับในรถก็มี อยากให้ทุกคนระลึกดู แม้นทหารกล้าของชาติทุกคน ที่ต้องเสียสละทุกอย่างตรากตรำ อดตาหลับขับตรานอน เพื่อปกป้องแผ่นดินให้เราอยู่กันสบาย เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันบทเรียนที่ให้เรียนในสมัยนี้ ให้เรียนรู้ประวัติบุคคลที่เสียสละของชาติมีให้พวกเราเรียนรู้กันน้อยมาก
จึงไม่มีตัวอย่างที่ดีให้ย้ำเตือนพวกเรา  ท่านอาจารย์กล่าวสรุปว่า สังคมไทยมีน้ำใจเผื่อแผ่ในอดีตกำลังจะเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย ในอดีตเมื่อพบปะกันก็จะทักทาย "ไปไหนมา ทานข้าวแล้วหรือยัง" เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่มีให้หลงเหลือสำหรับเยาวชนได้เรียนรู้เป็นแบบอย่าง ฉะนั้นท่านอาจารย์ฝากข้อคิดให้ทุกคนว่า"ดูละครให้ย้อนดูตัว" ตัวเราเองต้องตรวจสอบตัวเองด้วย